การเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่มีลักษณะอย่างไร?

     การจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่มีลักษณะส่งเสริมการเรียนด้วยตนเองของเด็ก เน้นการช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุด โดยสภาพของโรงเรียนจัดสิ่งแวดล้อมให้เสมือนบ้าน มีห้องต่างๆ ที่บ้านควรมี เช่น ห้องนอน ห้องครัว ห้องนั่งเล่น มีห้องโถงใหญ่ที่จัดมุมการเรียนรู้ไว้ตอบสนองความต้องการของเด็ก ได้แก่ มุมฝึกประสาทสัมผัส มุมภาษา มุมคณิตศาสตร์ มุมดนตรี มุมศิลปะ มุมที่จะสอนสิ่งที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และมุมภูมิศาสตร์ เป็นต้น ห้องนี้เปรียบเสมือนห้องทำงานของเด็ก จะมุ่งเน้นทางด้านสติปัญญา เด็กๆ จะอยู่ในห้องนี้เพื่อทำกิจกรรมอย่างน้อย 2 ชั่วโมง โดยมีเครื่องมือที่ออกแบบไว้สำหรับเด็กโดยเฉพาะ ที่จะพัฒนาทางสติปัญญาเด็กมากกว่าการสอน เช่น เครื่องเรือน ชุดรับแขกที่เหมาะสำหรับให้เด็กเคลื่อนย้ายได้ ทำความสะอาดสะดวก มีโต๊ะหลายแบบทั้งสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงกลมทั้งเล็กทั้งใหญ่ ส่วนสื่อที่จัดไว้ที่มุมต่างๆในห้องนั้น เป็นสื่อที่มอนเตสซอรี่ได้พัฒนาขึ้นมา จัดไว้เป็นชุดๆ ด้วย กัน โดยให้แต่ละมุมเป็นเรื่องของการศึกษาแต่ละชุด โดยรอบๆ บ้านมีบริเวณให้เด็กได้เดิน มีสวนให้เด็กได้นั่งพักและทำกิจกรรม เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก


หลักการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่มีดังนี้

จัดห้องเรียนให้เสมือนบ้านเพื่อสร้างความรู้สึกอบอุ่นและมั่นใจให้แก่เด็กที่เพิ่งจากบ้านมาโรงเรียนครั้งแรกและเชื่อว่าในสภาพแวดล้อมคล้ายบ้าน เด็กจะพอใจที่จะเลียนแบบ (Imitation) บทบาทต่างๆ ของผู้ที่อยู่แวดล้อมเด็กได้ง่าย เพราะเด็กจะมีประสบการณ์กับบุคคลที่เขาใกล้ชิดอยู่แล้ว โดยเฉพาะพ่อแม่ เด็กเห็นพ่อแม่ทำงานบ้าน การทำตามแบบเป็นการแสดงความสามารถของเด็กที่จะนำไปใช้ในชีวิตจริงต่อไป

ให้เสรีภาพกับเด็กที่จะเลือกเล่นด้วยตนเอง เป็นการสร้างความมั่นใจต่อตนเอง เด็กจะได้โอกาสแสดงความสามารถของตนเองให้คนอื่นรับรู้ได้ ตลอดจนสามารถที่จะฝึกฝน สร้าง สรรค์สิ่งต่างๆ และปรับชีวิตตนเองโดยไม่รู้ตัว มอนเตสซอรี่เชื่อว่า เด็กมีจิตใจที่ซึมซับสิ่งต่างๆจากสิ่งแวดล้อม (Absorbent mind) ได้เหมือนฟองน้ำ และเชื่อว่ามนุษย์เราเป็นผู้ให้การศึกษาแก่ตนเอง ดังเช่น เด็กเรียนรู้ภาษาแม่ได้เองโดยไม่ต้องสอนอย่างเป็นทางการ แตกต่างจากการที่ผู้ใหญ่เรียนภาษาต่างประเทศที่ต้องใช้ความพยายามมาก

จัดสภาพการณ์ต่างๆที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ครูเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก คอยให้คำ แนะนำ ปรึกษา เตรียมการสอนและจัดสิ่งแวดล้อมอย่างมีจุดมุ่งหมาย เด็กจะต้องติดตามดูการสาธิตการใช้อุปกรณ์ของครูแล้วจึงจะตัดสินใจเองว่าจะเลือกทำงานหรือฝึกหัดอุปกรณ์ชิ้นใด ลักษณะการเรียนรู้เช่นนี้คือ การเรียนด้วยความอิสระที่มีขอบเขต เด็กต้องเรียนรู้ที่ใช้อุปกรณ์อย่างถูกต้องก่อนที่จะมีสิทธิ์เลือก เป็นการปลูกฝังวินัยและการควบคุมตนเองให้เด็ก

พัฒนาจิตใจของเด็กไปพร้อมกับการพัฒนาการทางด้านสติปัญญาและร่างกาย เน้นสุขอนามัยของเด็ก เด็กต้องทำความสะอาดอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เด็กต้องได้ออกกำลังกายและมีการเคลื่อนไหว

การเรียนไปพร้อมกับการเล่นจะช่วยให้เด็กสนใจ เพลิดเพลิน เพราะเป็นวิธีการสอนที่สอดคล้องกับธรรมชาติของเด็ก คือ เด็กต้องการการเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง เด็กชอบเล่น รื้อ แคะ แกะชิ้นส่วนของสิ่งต่างๆ หรือนำไปประกอบใหม่ เด็กชอบเลียนแบบผู้ที่ตนเองพบเห็น เด็กจึงชอบสมมุติ พร้อมกันนั้นเด็กมีจินตนาการ จึงชอบทำในสิ่งที่เกินกว่าวัยของตนเองจะทำได้ และเด็กมีความอยากรู้อยากเห็น จึงชอบสำรวจ ค้นหาเสมอ

ฝึกการใช้ประสาทสัมผัสของเด็กทุกด้าน ทั้งการสังเกต การจับต้อง การลูบคลำ การฟังเสียง การดมกลิ่นและการชิมรส เพื่อการเจริญเติบโตทางด้านสติปัญญา

ยึดหลักความแตกต่างระหว่างบุคคล เพราะเด็กแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะของตนที่ได้รับจากพันธุกรรมจากพ่อแม่ จากการอบรมเลี้ยงดู และจากสภาพสิ่งแวดล้อมที่เขาได้ปะทะสัมพันธ์ เด็กแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน จุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนจึงไม่คาดหวังว่าเด็กทุกคนจะทำอะไรได้เหมือนกันหมด แต่พยายามหาทางส่งเสริมให้ทุกคนอย่างเหมาะสม มอนเตสซอรี่ย้ำว่า เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก จึงควรได้รับการดูแลแตกต่างไปจากผู้ใหญ่โดยคำนึงถึงสภาพชีวิตเด็ก

การรักเด็กและนับถือความสามารถที่เป็นธรรมชาติของเด็ก มอนเตสซอรี่จัดการเรียนการสอนให้เด็กตามความสามารถของแต่ละคน แต่ให้ทำงานไปตามลำดับความยาก ง่าย โดยมีอุปกรณ์ขนาดเหมาะมือเด็ก

เป้าหมายสูงสุดของการสอนคือ การมุ่งให้เด็กได้เป็นเด็กที่มีคุณค่าทางจิตใจสูง ฝึกให้เห็นคุณค่าของความร่วมมือกับส่วนรวม การควบคุมตนเอง ความรับผิดชอบ ความอดทน เป็นตัน

จัดโอกาสการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ให้เด็กได้พัฒนาอย่างเต็มที่เพราะช่วงเวลาหลักของชีวิตคือช่วงอายุแรกเกิดถึง 6 ขวบเป็นช่วงที่สติปัญญาของคนและพลังจิตพัฒนาสูงสุด วิธีสอนและเทคนิคการสอนแบบมอนเตสซอรี่เน้นให้เด็กทำกิจกรรมด้วยตนเอง (Self Activity) มีดังนี้

การเล่นปนเรียน (Play Way Method) มอนเตสซอรี่มีความเชื่อว่า การเล่นมีความสำคัญต่อชีวิตของเด็กเพราะธรรมชาติของเด็กจะผูกพันกับการเล่น จึงให้เสรีภาพในการเล่นกับเด็กและจัดโอกาสให้เด็กได้เล่น หากเด็กสนใจเล่น จะเล่นซ้ำๆ กันได้หลายครั้ง เพราะการเล่นจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด

การเล่นเกมจะตอบสนองความต้องการของเด็กและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก เด็กจะมีเสรีภาพที่เล่นลักษณะใดก็ได้ กติกาอาจเกิดจากเด็กเป็นผู้กำหนดเอง เกมอาจเกิดจากความคิดของเด็กที่ได้จากสื่อคณิตศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมที่ครูจัดไว้ให้

วิธีให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ (Creativity Method) เป็นวิธีการที่แฝงอยู่ในกระบวนการจัดการเรียนการสอนของมอนเตสซอรี่ที่จะสนับสนุนให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากการกระทำของตนเองตามลำดับคือ เด็กได้แสดงออกอย่างอิสระ การพยายามให้เด็กใช้ทักษะที่มีอยู่ การส่งเสริมให้ค้นหาสิ่งใหม่ การปรับปรุงสิ่งเดิมให้ดีขึ้น และการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นนามธรรม

การสาธิต (Demonstration) ครูจะใช้วิธีนี้เมื่อเด็กขอร้องและครูสังเกตว่าเด็กช่วยตนเองไม่ได้แล้ว ครูสาธิตด้วยวิธีที่เงียบ ไม่อธิบายหรืออธิบายน้อยที่สุด สาธิตเป็นขั้นๆ และให้โอกาสเด็กลงมือกระทำตามที่ครูทำให้ดูและครูคอยสังเกตการทำของเด็กว่าถูกต้องหรือไม่

ห้องเรียนแบบเปิด (Open Classroom) เป็นลักษณะการจัดห้องเรียนมากกว่าวิธีสอน มอนเตสซอรี่เป็นผู้บุกเบิกการจัดการเรียนที่ให้อิสระเด็กเป็นรายบุคคล สนับสนุนการสืบค้นความรู้จากสิ่งแวดล้อม เด็กจะเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นส่วนมาก

การเสริมสร้างอัตมโนทัศน์ (Self Concept) เป็นลักษณะที่สอดคล้องกับแนวคิดของมนุษย์นิยม เพราะมอนเตสซอรี่จัดสิ่งแวดล้อมและสื่อการเรียนการสอนที่เป็นประสบการณ์ส่งเสริมให้เด็กค้นพบความสำเร็จ ส่งเสริมให้เด็กมั่นใจว่าตนเป็นผู้มีความสามารถ เสริมแรงทางบวก เป็นต้น

ที่มา : http://taamkru.com/th/มอนเตสซอรี่/#article103
ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุบผา เรืองรอง อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช